การก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ของ เจียง ไคเชก

การปฏิบัติการที่กวางตุ้งครั้งแรก

เจียง ไคเชก ในช่วงปี ค.ศ. 1920เจียง ไคเชก (ยืนทางซ้าย)และ ดร.ซุน ยัตเซ็น (นั่งทางขวา)

เมื่อยฺเหวียน ชื่อไข่ตั้งต้นเป็นฮ่องเต้ ประชาชนทั่วประเทศต่างพากันต่อต้านคัดค้าน อีกทั้งกลุ่มทหารที่ไม่เห็นด้วยกับการรื้อฟื้นระบอบฮ่องเต้กลับมาจึงทำการต่อสู้นำไปสู่สงครามพิทักษ์ชาติขึ้น ในปี ค.ศ. 1916 ยฺเหวียน ชื่อไข่ได้เสียชีวิตลงระบอบจักรพรรดิที่เขารื้อฟื้นก็สิ้นสุดลง บรรดาแว่นแคว้นจังหวัดต่างๆได้ประกาศตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลางอีกต่อไปทำให้ประเทศจีนเข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยกหรือยุคขุนศึกในที่สุด ที่กรุงปักกิ่ง รัฐบาลขุนศึกเป่ยหยางได้สืบทอดอำนาจต่อและยังคงบริหารประเทศต่อไป เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจอมปลอมที่มีประธานาธิบดีที่ถูกแต่งตั้งเป็นเพียงหุ่นเชิดให้แก่กองทัพเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1917 ดร.ซุน ยัตเซ็นได้ย้ายไปตั้งฐานที่มั่นปฏิวัติที่เมืองกวางตุ้ง (ปัจจุบันคือเมืองกวางโจว) เนื่องจากเมืองกวางตุ้งมีชัยภูมิที่ดีแต่ทหารของฝ่ายพรรคปฏิวัติจีนมีกำลังพลน้อยทำให้ควบคุมพื้นที่เมืองกวางตุ้งไม่ครอบคลุม บริเวณรอบเมืองมีแต่ทหารที่จงรักภักดีต่อขุนศึกทางเหนือ ระหว่างที่ทำการต่อสู้ ทหารที่มีความสามารถของดร.ซุนถูกฆ่าตายไปหลายคน เพื่อความปลอดภัยบรรดาสมาชิกของพรรคปฏิวัติจีนแนะนำเจียง ไคเชก มาเป็นผู้ช่วยทางการทหารให้กับ ดร.ซุน ท่ามกลางความสิ้นหวัง ดร.ซุนจึงเริ่มมองเห็นความสำคัญของเจียง ไคเชกและมักจะเรียกเจียงเข้ามาปรึกษาปัญหาต่างๆ

ในเวลานี้ดร.ซุนยังคงถูกไล่ล่าและไม่มีอาวุธหรือเงินสนับสนุน เจียงแนะนำให้ดร.ซุนจ้างทหารรับจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของแก๊งมาเฟีย ทหารพวกนี้จงรักภักดีต่อเจ้านายที่จ่ายเงินให้พวกเขาเท่านั้น ดังนั้นกองทหารของดร.ซุนจึงมีปัญหาเรื่องการเงินแทบตลอดเวลา ดร.ซุนต้องการกองทหารที่มีอุดมการณ์ เป็นทหารปฏิวัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แก๊งมาเฟีย แต่เจียงแย้งว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนอย่างเท่าเทียม ถึงแม้จะเป็นนักเลงมาเฟียก็สามารถช่วยเหลือประเทศชาติได้ และทหารที่มีอุดมการณ์ต้องบ่มเพาะและฝึกขึ้นมา ต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงต้องพึ่งทหารรับจ้างไปพลางๆก่อน ดร.ซุนจึงยอมตกลงด้วย แต่อย่างไรก็ตามกองทัพปฏิวัติก็ถูกตีโต้และต้องลี้ภัยไปเซี่ยงไฮ้อีกรอบ

การปฏิบัติการที่กวางตุ้งครั้งที่สอง

รัฐบาลขุนศึกเป่ยหยางได้สั่งต้องห้ามพรรคคณะปฏิวัติจีน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1919 ดร.ซุนได้ตั้งพรรคใหม่ ชื่อว่า จงกั๋ว ก๊กมินตั๋ง (จีนตัวย่อ: 中国国民党; จีนตัวเต็ม: 中國國民黨; พินอิน: Zhōngguó guómíndǎng) ซึ่งก็คือ "พรรคก๊กมินตั๋ง" หรือ "จีนคณะชาติ" ขึ้น โดยมีเจียง ไคเชกได้ให้การสนับสนุนพรรคใหม่นี้อย่างแข็งขัน[9]

ในปี ค.ศ. 1920 กองทัพปฏิวัติของดร.ซุนกลับคืนสู่กวางตุ้งด้วยความช่วยเหลือของทหารรับจ้างอีกครั้ง ดร.ซุนได้พยายามสร้างพันธมิตรทางทหารกับขุนศึกเจ้าเมืองและบรรดาเหล่าผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นในกวางตุ้ง หลังจากกลับมาที่กวางตุ้งความแตกแยกที่พัฒนาขึ้นระหว่างพรรคของดร.ซุนซึ่งพยายามใช้กองทัพรวมประเทศจีนเข้าด้วยกันภายใต้พรรคก๊กมินตั๋งและเฉิน เจียงหมิง ขุนศึกเจ้าเมืองมณฑลกวางตุ้งที่ต้องการปกครองเมืองกวางตุ้งแบบระบบศักดินาขุนศึกต่อไป จึงได้ทรยศหักหลังและวางแผนลอบสังหารดร.ซุน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1920 เย่ จู นายพลของเฉินทำการโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีกวางตุ้ง[10] ทำให้ดร.ซุนต้องหนีไปที่ลานท่าเรือ[11] และลี้ภัยโดยสารเรือ เอสเอส ไห่ฉี,[12]ภรรยาของดร.ซุนซึ่งหนีไม่ทันและให้ดร.ซุนหลบหนีไปก่อน ได้หลบกระสุนที่ทำเนียบประธานาธิบดีกวางตุ้งและได้หนีรอดตามออกมาได้ ทั้งคู่พบกันที่เรือเอสเอสหยงฟาง ขณะนั้นเจียงไคเชกที่กำลังจัดพิธีงานศพให้แม่ของเขาที่เซี่ยงไฮ้[13] ได้รับโทรเลขด่วนจากดร.ซุน ดังนั้นเจียงจึงพากองกำลังกองหนึ่งกระหืดกระหอบมาจากเซี่ยงไฮ้มาช่วยดร.ซุนที่กวางตุ้ง ขณะนั้นดร.ซุนใช้เรือรบเป็นกองบัญชาการสู้กับพวกกบฎของเฉิน เจียงหมิงอยู่ 50 วันเหตุการณ์ไม่มีทีท่าสงบ จนกระทั่งเจียงไคเชกยกทัพมาถึง เหตุการณ์จึงคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่อยู่บนเรือเจียงเป็นองครักษ์คอยปกป้องคุ้มกันดร.ซุนและได้รับความไว้วางใจเป็นมือขวาในที่สุด

โรงเรียนการทหารหวงผู่

ซุน ยัดเซ็น (ยืนอยู่หลังโต๊ะ) และเจียง ไคเช็ค (ยืนบนเวที สวมเครื่องแบบ) ในพิธีเปิดโรงเรียนการทหารหวงผู่ในปี ค.ศ.1924

เจียงและดร.ซุนแล่นเรือมาถึงเกาะหวงผู่ (ปัจจุบันคือเกาะฉางโจว (长洲岛)) ปี ค.ศ. 1924 ดร.ซุนได้ตั้งโรงเรียนการทหารขึ้น เพื่อบ่มเพาะนักการทหารและนักการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นแกนนำในการปฏิวัติ โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะหวงผู่ จึงได้ชื่อว่าโรงเรียนการทหารหวงผู่ เจียง ไคเชกได้รับเลือกเป็นอาจารย์ใหญ่ที่ฝึกสอนคนแรกของโรงเรียนทหารแห่งนี้ ช่วงปี ค.ศ. 1920 เจียงสนใจภาษารัสเซีย เขาศึกษาวัฒนธรรมและการทหารของรัสเซียอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็เขียนจดหมายไปคุยกับดร.ซุน ให้ขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย การตั้งโรงเรียนดังกล่าวทำให้พรรคก๊กมินตั๋งได้ทหารอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ได้มีการลดจำนวนและเลิกพึ่งพาทหารรับจ้างซึ่งไม่มีอุดมการณ์ไปในที่สุด ดังนั้นกองทัพปฏิวัติที่อ่อนแอของพรรคก๊กมินตั๋งจึงเริ่มแข็งแกร่งมากขึ้นและสามารถยึดเมืองกวางตุ้งคืนมาได้อย่างรวดเร็ว

การศึกษาที่รัสเซีย

ดร.ซุนได้รับความช่วยเหลือจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์นและได้ส่งเจียงไปใช้เวลาสามเดือนในมอสโกเพื่อศึกษาระบบการเมืองและการทหารของสหภาพโซเวียต ระหว่างการเดินทางไปรัสเซีย เจียงพบกับเลออน ทรอตสกีและผู้นำโซเวียตคนอื่นๆ เจียงได้พบว่าแนวความคิดของคอมมิวนิสต์ขัดแย้งกับขนบธรรมเนียมวัฒธรรมอันดีงามของจีน เนื่องจากหลักความคิดในลัทธิคอมมิวนิสต์จะเน้นความชิงชัง การต่อสู้ดิ้นรน ส่วนลัทธิขงจื๊อจะเน้นความรัก ความสามัคคีและคุณธรรม ซึ่งทั้งสองความคิดนี้ต่างขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง นั้นทำให้เจียงได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วว่าระบบรัฐบาลของรัสเซียไม่เหมาะกับประเทศจีน เจียงจึงได้มากลับมาแนะนำดร.ซุนให้รับแต่ความช่วยเหลือด้านการทหารไม่ต้องรับความช่วยเหลือทางด้านการเมือง

แต่การที่ดร.ซุนรับความช่วยเหลือทางทหารจากองค์การโคมินเทิร์นทางตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์สากลที่เลนินส่งมาได้ปรับปรุงโครงสร้างพรรค ให้ตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง เปิดทางให้เหมา เจ๋อตง สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามามีตำแหน่งรัฐมนตรีโฆษณาการ เจียง ไคเชกได้บันทึกลงในบันทึกประจำวันเขาว่า "ดร.ซุนได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง ทันทีที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ตั้งหลักบนแผ่นดินจีนได้นั้นย่อมเป็นการยากที่ขจัดพวกเขาเหล่านั้นไป"

เจียงไคเชกกลับมาที่กวางตุ้งและในปี ค.ศ. 1924 เขาได้รับแต่งตั้ง ผู้บัญชาการของโรงเรียนการทหารหวงผู่ เจียงขอลาออกจากสำนักงานเป็นเวลาหนึ่งเดือนโดยไม่เห็นด้วยกับการที่ดร.ซุนให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์การคอมมิวนิสต์สากล แต่เจียงก็กลับมาตามความต้องการของดร.ซุน ในช่วงปีแรกๆที่โรงเรียนการทหารหวงผู่อนุญาตให้เจียงสามารถปลูกฝังนายทหารหนุ่มที่ซื่อสัตย์ต่อทั้งพรรคก๊กมินตั๋งและตัวเขาเอง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจียง ไคเชก http://www.chinataiwan.org/wh/tp/200801/t20080131_... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2507/D/... https://books.google.com/books?id=8VPVCQAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=KWHREtBHNqYC&pg=... https://books.google.com/books?id=T6eXCgAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=YsWOAwAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=YsWOAwAAQBAJ&pri... https://books.google.com/books?id=tx5H_DC5V-MC https://books.google.com/books?id=tx5H_DC5V-MC&pg=... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Chiang...